ประเพณี

ประเพณีงานแต่งงาน
                                ขั้นที่ 1  :  ทาบทามพ่อล่าม  แม่ล่าม  เมื่อฝ่ายว่าที่เจ้าป่าวได้แจ้งเรื่องให้ญาติพี่น้อง  พ่อแม่ให้ทราบถึงจุดประสงค์ที่จะทำการแต่งงาน  เมื่อมีความพร้อมแล้วและทุกคนเห็นชอบก็จะมีการปรึกษาหารือกันและกันว่าจะไปทาบทามครอบครัวไหนมาเป็นพ่อล่ามแม่ล่าม  หรือเป็นล่าม  ในการติดต่อกับญาติฝ่ายเจ้าสาวให้
                                ขั้นที่  2  :  การโอม  (ทาบทามเพื่อมั่นหมาย  สู่ขอลูกสะใภ้)  บทบาทนี้ถือเป็นภาระสำคัญของพ่อล่าม  แม่ล่าม  ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการออกหน้าแทนพ่อแม่ว่าที่เจ้าบ่าว  ในการพูดคุยกับญาติฝ่ายว่าที่เจ้าสาวหรือลูกสะใภ้ในอนาคต  โดยอาจส่งคนไปบอกนัดหมายเจรจากับญาติ  (เจ้าโคตร)  ฝ่ายเจ้าสาว  โดยนัดหมายวันและเวลาที่เหมาะสม
                                ขั้นที่  3  :  การตัดไม้เพื่อทำเสาขวัญ  เฮือนสู่  (เรือนหอ)  และการเตรียมงานแต่งงาน  หลังจากเจรจาตกลงกันได้ด้วยดี  ฝ่ายชายต้องรีบดำเนินการตามข้อตกลง  คือ  รีบจัดหาไม้  เพื่อทำเรียนหอและทำการก่อสร้างโดยให้ความสำคัญกับการตัดและเลือกต้นไม้ที่มาตั้งเป็นเสาขวัญ  (เสาเอก)  โดยมีพิธีกรรม  คือ  คนที่เป็นพ่อล่าม  พ่อ  แม่ฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวก็ไปคัดเลือกต้นไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะดี  เพื่อทำเป็นเสาขวัญ   ซึ่งไม้ที่นิยม  คือ  ไม้จิก  ไม้แดง  ไม้ประดู่  ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง  โดยจะมีการทำพิธีก่อนล้มต้นไม้เพื่อตัดเป็นเสา
                                ขั้นที่  4  :  วันแต่งงาน  กิจกรรมวันแต่งงานนอกจากจะเป็นวันสำคัญในชีวิตของคู่บ่าว  -  สาวแล้วยังถือเป็นวันสำคัญของพ่อล่าม – แม่ล่าม  ที่จะต้องมบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แทนพ่อแม่เจ้าบ่าวในการออกหน้านำขบวนเจ้าบ่าวเข้าพิธีแต่งงาน  ที่บ้านของเจ้าสาวหรือที่เรือนหอที่สร้างไว้  โดยพ่อล่ามแม่ล่ามก็จะแต่งกายชุดพื้นเมืองสวยงาม  เดินนำหน้าขบวนแห่เจ้าบ่าวจากบ้านพ่อแม่ไปยังบริเวณงาน  ลักษณะเด่นของพ่อล่ามแม่ล่ามที่สังเกตได้ง่าย  คือ  จะถือง้าว  และสะพายย่าม  เดินนำหน้าและมีภรรยาหรือแม่ล่ามเดินตามหลัง  แล้วตามด้วยเจ้าบ่าวที่แต่งตัวหล่อสุดๆ  ตามมาติดๆ  ด้วยญาติฝ่ายเจ้าบ่าวถือสัมภาระที่จำเป็น  เช่น  ขันหมาก  ถาดบรรจุสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้
                                                เนื่องจากปัจจุบันพิธีการแต่งงานของคนภูไท  ได้ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม  สภาพสังคมและเศรษฐกิจ  แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ยังคงพิธีการแต่งงานที่เป็นเอกลักษณะของชาวภูไทไว้

 พิธีการเหยา
                                เป็นพิธีกรรมความเชื่อในการนับถือผี  เป็นการเสี่ยงทายเมื่อมีการเจ็บป่วยของครอบครัวก็เชื่อว่าเป็นการกระทำของผี  จึงมีพิธีเหยาเพื่อแก้ผี  ว่าผู้เจ็บป่วยนี้ผิดผีด้วยสาเหตุใด  ผีต้องการให้ทำอะไร  จะได้ปฏิบัติตามแล้วอาการเจ็บป่วยจะได้หายตามปกติ
                                ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีเหยาของชาวภูไทที่ต้องอ้อนวอนอัญเชิญผีฟ้า  ให้มาช่วยรักษาผู้ป่วยนั้น  ด้วยการเชื่อว่าการเจ็บป่วยของมนุษย์นั้น  เนื่องจะเกิดจากการละเมิดต่อผี  เรียกว่า  ผิดผี  ผีจะลงโทษให้มีอันเป็นไปต่างๆ  การเหยาหรือการรำผีฟ้าเป็นพิธีกรรมรักษาผู้ป่วย  โดยอัญเชิญผีฟ้าลงมาสถิตในร่างของคนทรงหรือนางเทียม  (ผู้หญิงที่สมมุติขึ้น)  เพื่อจะให้การทำนายลักษณะอาการของผู้ป่วย  ประกอบพิธีรักษาและเป็นสื่อกลางระหว่างผีที่มากระทำให้ร้ายกับผู้ป่วยให้มีความเข้าใจอันดีต่อกันด้วย  พิธีเหยาแบ่งออกได้  3  ลักษณะ  คือ
                                                1การเหยาเพื่อชีวิต  เป็นลักษณะการเหยาเพี่อรักษาอาการเจ็บป่วย  หรือเหยาต่ออายุ  ภาษาหมอเหยา  เรียกว่า  เหยาเพื่อเลี้ยมหิ้งเลี้ยมหอ
                                                2การเหยาเพื่อคุมผีออก  เป็นการสืบทอดหมอเหยา  กล่าวคือ  เมื่อมีผู้ป่วยรักษาอย่างไรก็ไม่หาย  เมื่อเหยาดูแล้ว  ผีบอกว่าจะเป็นหมอเหยารักษาจึงจะหาย  ดังนั้นหมอเหยาจึงมีการเหยาคุมผีออก  (เนื่องจากผีร้ายเข้าสิง)  ถ้าผีออกผู้ป่วยก็จะลุกขึ้นมาร่ายรำกับหมอเหยาด้วย  จะทำให้อาการป่วยนั้นหาย  ผู้ที่เป็นหมอเหยาที่ทำหน้าที่เหยาจะมีตำแหน่งเป็นแม่เมือง  ส่วนผู้ป่วยที่หายก็จะกลายเป็นหมอเหยาต่อ
                                                3. การเหยาเพื่อเลี้ยงผี  เนื่องจากในปีหนึ่งๆ  หมอเหยาจะไปเหยาเพื่อรักษาผู้ป่วยบ้างหรือเหยาเพื่อจุดประสงค์อื่นบ้างก็ตาม  จำเป็นที่หมอเหยาจะต้องจัดเลี้ยงผีเพื่อขอบคุณผี  โดยจะจัดในช่วงเดือน  4  หรือเดือน  5  ของทุกๆ  ปี   แต่ถ้าปีไหนหมอเหยาไม่ได้เหยามากนักหรือข้าวปลาไม่อุดมสมบูรณ์ก็จะไม่เลี้ยง  หากแต่จะทำพิธีฟายเหล้า  (ใช้ใบและดอกไม้จุ่มเหล้าและประพรมให้กระจายออกไป)  แทน

                การรำภูไท



                                ชาวภูไทมีการแสดงทางด้านนาฏศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือการรำภูไท  ซึ่งแต่ละในท้องถิ่นก็จะมีท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน  รำภูไทเป็นการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวภูไทที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นเวลาช้านานจากบรรพบุรุษของชาวภูไท  ในสมัยก่อนเรียกการรำภูไทว่า  การรำละครไทย  เป็นการแสดงออกซึ่งความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน  โดยการจับกลุ่มรำ  เพื่อความสนุกสนานในงานเทศกาลและรำในงานประจำปี  งานวันรำลึกภูไท  6  เมษายน   ของชาวภูไทอำเภอวาริชภูมิ  จังหวัดสกลนคร  รำแสดงในโอกาสเลี้ยงเจ้าปู่มเหสักข์  ท่ารำภูไทสะท้อนให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวภูไท  จากอดีตกาลอันยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน  ดนตรีที่ใช้ประกอบการรำภูไทเป็นเครื่องดนตรีของอีสาน  ได้แก่  แคน  ซอ  พิณ  กั๊บแก๊บ  กลองยาว  กลองตุ้ม  ฆ้อง  ฉิ่ง  ฉาบ  โปงลางและโหวต  ครูผู้สอนรำภูไทเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในอำเภอวาริชภูมิ  จังหวัดสกลนคร  ที่ถ่ายทอดลีลาท่ารำให้อนุชนรุ่นหลังต่อๆ  กันมาอย่างต่อเนื่อง  และได้รับการพัฒนาส่งเสริมจนเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น  จนกลายเป็นศิลปะที่สำคัญอันหนึ่งของอำเภอวาริชภูมิ  จังหวัดสกลนคร

                การประกอบพิธีบุญเดือนสาม
                                1.  เข้าวันขึ้น  3  ค่ำ  เดือน  3  ทางจันทรคติ  เวลา  06.30-07.00  น.  พิธีกรกล่าวเชิญชวนชาวภูไทในเขตบ้านวาริชภูมิ  ใช้นำกระทงที่เตรียมไว้มารวมกันบริเวณที่กำหนดไว้ก่อนที่จะนำกระทงมารวมกันผู้เข้าร่วมพิธีอาจจะนำข้าวแดงในกระทง  (บางคนอาจจะนำข้าวเหนียวนึ่งเตรียมมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ )  ขึ้นมาแตะตามส่วนต่างๆ  ของร่างกายแล้วใส่กลับลงไปในกระทง  จากนั้นนำกระทงไปรวมกันไว้ตามทิศต่างๆ  คือ  ทิศเหนือ  ทิศใต้  ทิศตะวันออก  และทิศตะวันตก  ในบริเวณที่กำหนดไว้ตามแต่สะดวก  ผู้ที่ไม่ต้องการร่วมพิธีทางศาสนาลำดับต่อไป  ก็สามารถกลับได้เลย  ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าร่วมพิธีทางพุทธศาสนานั้นนำข้าวสาร  อาหารแห้งร่วมพิธีทำบุญตักบาตร
                                2.  เวลา  07.00 - 08.00  น.  ผู้นำชุมชนนำเอาอาหารที่ประชาชนนำมาถวายเจ้าปู่มเหสักข์  จากนั้นจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย  โดยพร้อมเพียงกัน  พิธีกรอาราธนาศีลห้า  ประธานสงฆ์ให้ศีล  ทุกคนสมาทานศีล  (รับศีล)  พิธีกรอาราธนาพระปริตร  พระสงฆ์สวดให้พร  ถึงบทสวดพาหุงฯ  ทุกคนร่วมกันใส่บาตร  หลังจากพระสงฆ์สวดพระปริตรมงคลจบ  นำภัตตาหารมาถวายพระภิกษุ  พิธีกรกล่าวคำถวายภัตตาหารแล้วประเคน  พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว  สวดให้พร  ประพรมน้ำประพุทธมนต์แก่ประชาชน
                                3.  เวลา  08.00 - 10.00  น.  คณะสงฆ์ทำพิธีสวดชำระทั้ง  4  ทิศ  โดยเวียนทักษิณาวัตร  เริ่มจากจุดที่รวมกระทงทางทิศตะวันออก  ทิศใต้  ทิศตะวันตก  และทิศเหนือ  ประชาชนทั่วไปร่วมกันจุดธูปเทียนในกระทงของตน  นำน้ำสะอาดทำพิธีกรวดน้ำในกระทงทุกใบ  หลังจาดพิธีสวดเสร็จแล้ว  ทำการจุดประทัดจากนั้นคว่ำกระทงทั้งหมด

                                4.  เวลา  10.00 - 10.30  น.  หลังจากพิธี  ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปเก็บเศษวัสดุต่างๆ  นำไปทำปุ๋ยหมักหรือนำไปผสมกับปุ๋ยคอกและฟางข้าว  แล้วน้ำฝุ่นผงเหล่านี้โปรยใส่กระบุง  ตะกร้า  เครื่องมือที่ใช้ทำมาหากินต่างๆ  เพื่อเป็นสิริมงคล