การอพยพ

เส้นทางการอพยพเคลื่อนย้ายของไทดำ  ไทกะป๋องวาริชภูมิ

       การอพยพเคลื่อนย้ายของคนภูไทวาริชภูมิ
                ปี  1274  บรรพบุรุษ  ชื่อ  “ขุนลอคำ”  พาอพยพมาจากอาณาจักรน่านเจ้า  ลงทิศใต้มาตั้งเมือง  “น้ำน้อยอ้อยหนู”  ปัจจุบัน  คือ  เมือง  “เดียนเบียนพู”  อยู่ในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม
                ปี  2334  เมืองน้ำน้อยอ้อยหนูฝนแล้งหลายปี  ผู้คนอดอยากข้าวปลาอาหาร  และเจ้านาย  เจ้าขุน ขัดเคืองขัดแย้งกัน  “ขุนเพาญาว”  จึงพาคนไทดำหนึ่งหมื่นคนเศษอพยพจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู  ลงจากทิศตะวันตกเฉียงใต้  เข้าพึ่งเจ้าเมืองหลวงพระบาง  ได้พบศาสนาพุทธ  ได้พระครู  1  รูป  ไปสอนศาสนาพุทธแก่ผู้คนในขบวนอพยพ  และขุนเพาญาวได้รับพระราชทาน  “นางช่อฟ้า”  (นางลาว)  จากเจ้าอนุรุทธะแห่งหลวงพระบาง  เจ้าหลวงพระบางสั่งให้อพยพไปอยู่เมือง  “วังเวียง”  ทางทิศใต้
                                ขุนเพาญาว  มีลูกจากเมียคนแรก  (เมก๊ก)  อยู่แล้ว  เป็นชาย  3  คน  คือ
                                                1.  เจ้าขุน  (สายวาริชภูมิ) 
                                                2.  เจ้าหาน
                                                3.  เจ้าหาญดง
                                เจ้าหุน  เจ้าหาน  ผิดใจขัดเคืองกันเรื่องกวางที่ล่าได้  พ่อตัดสินใจให้กวางแก่น้อง  เจ้าหุนไม่พอใจจึงแยกขบวนออกจากขบวนพ่อและน้อง  เมื่อไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ  จึงเชิญเอาเจ้าภู  เจ้าผา  เจ้าป่า  เจ้าเขา  ในเส้นทางที่อพยพผ่านไว้เป็นเทวดาคุ้มครองผู้คนในขบวน  ซึ่งมีประมาณ  2,000  คน
                                ขุนเพาญาว  ผู้เป็นพ่อและเจ้าหานผู้น้อง  ตั้งเมืองวัง  ตามชื่อเมืองวังเวียงที่ผ่านมา  เมืองวังมีคำหรือทองคำ  จึงเรียกกันว่า  เมืองวังอ่างคำ  อ่างแปลว่า  “บ่อ”  อ่างคำ  ก็แปลว่า  “บ่อคำ/บ่อทองคำ”
                                เจ้าหุน  ตั้งเมืองกะป๋อง  (Xepon : เซโปน)  อยู่ใต้เมืองวังอ่างคำลงไปทางทิศใต้  ประมาณ  45-50  กิโลเมตร  ใกล้เขตแดนประเทศเวียดนาม
                พ.ศ.  2387  ท้าวราชนิกูล  พาคนไทดำหรือภูไทกะป๋องอพยพจากเมืองมุ่งสู่ทิศตะวันตก  ข้ามแม่น้ำโขงตรงธาตุพนม  เดินทางไปรายงานตัวต่อผู้ควบคุมการอพยพที่จังหวัดนครพนม  ได้รับคำสั่งให้อพยพมาอยู่กับเมืองสกลนคร  อยู่เมืองสกลนครช่วงเวลาหนึ่ง  เห็นว่าไม่มีที่ทำนาเพราะชาวเมืองก็มีมาก  และอาจเป็นปัญหาคับอกคับใจบางอย่าง  จึงอพยพจะไปอยู่กับเมืองหนองหาน  (อำเภอหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี)  แต่พอข้ามน้ำอูนเข้าสู่เขตเมืองหนองหาน  ตรงบ้าน  “ฟั่งฟ้าว”  หรือเมืองพรรณานิคม  แล้วได้เลี้ยวซ้ายไปทางทิศใต้  ไปตั้ง  “บ้านพุ่ม”  ที่ภูอ่างสอ  ใกล้บ้านสุวรรณคามหรือบ้านตาแดง  (ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอนิคมน้ำอูน)  อยู่บ้านพุ่มหลายปี  ทำไร่พริก  ไร่ฝ้าย  ไร่ข้าว  (เค้าไฮ่)  คนมากขึ้นข้าวไร่ไม่พออยู่พอกิน  จึงพร้อมกันอพยพเคลื่อนย้ายลงเขามาทำนาลุ่ม  (นาพื้นราบ)  บางกลุ่มไปตั้งบ้าน  “พักกำพู”  “อู่นโคก”  “อูนด๋ง”  ส่วนกลุ่มท้าวราชนิกูลได้ทำเลเหมาะจึงตั้งบ้านหนองหอย  (บ้านวาริชภูมิ  หมู่ที่  1-2  ในปัจจุบัน)

                พ.ศ.  2420           บ้านหนองหอย  ได้รับการแต่งตั้งจากทางกรุงเทพฯ  ให้เป็นเมือง  “วาริชภูมิ์”
                พ.ศ.  2440           ปรับเปลี่ยนเมืองวาริชภูมิ์  เป็นอำเภอวาริชภูมิ  มีเหตุการณ์ไฟไหม้เมืองจึง
                                              แยกกันไปตั้งบ้านต่างๆ
                พ.ศ.  2457           อำเภอวาริชภูมิ  ถูกปรับเปลี่ยนเป็นตำบลวาริชภูมิ  ขึ้นต่ออำเภอพรรณานิคม
                พ.ศ.  2469           ปรับเปลี่ยนจากตำบลวาริชภูมิเป็นกิ่งอำเภอ  ขึ้นต่ออำเภอพรรณานิคม
                พ.ศ.  2496           ปรับเปลี่ยนจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอวาริชภูมิ  จนถึงปัจจุบัน
                                ลูกคนโต  (ลุก๊ก)  ของท้าวราชนิกูล  ชื่อ  สุพรม  ได้เป็นเจ้าเมือง  มีนามยศว่า  “พระสุรินทรบริรักษ์”  ได้รับพระราชทานนามสกุล  ลำดับที่  1,209  ว่า  “เหมะธุลิน”
                                “เหมะธุลิน”  แปลว่า  ทองคำที่เป็นผงเป็นเม็ดเล็กๆ  (ตามนามบรรพบุรุษเจ้าเมืองกะป๋องที่ชื่อ  ท้าวคำผง)  โดย  เหม  แปลว่า  คำ,ทองคำ / ธุลิน  แปลว่า  ผง  =  ผงทอง