การแต่งกาย

การแต่งกายและเครื่องนุ่งห่มของชาวภูไท

                วัฒนธรรมของกลุ่มภูไทที่เด่นชัดคือ  การทอผ้าซิ่นหมี่ต่อตีน  เป็นตีนต่อขนาดเล็กกว้าง  4-5  นิ้วมือ ที่เรียกว่า  ตีนเต๊าะ”  เป็นที่นิยมในกลุ่มภูไททอเป็นหมี่สาด  หมี่หม้อย้อมครามจนเป็นสีครามแก่เกือบเป็นสีดำแต่ชาวบ้านมักเรียกว่า  ผ้าดำหรือซิ่นดำ  ลักษณะเด่นของซิ่นหมี่ชาวภูไท  คือ  การทอและลวดลาย  เช่นทอเป็นลายนาคเล็กๆ  นอกจากนี้มีลายอื่นๆ  เช่น  หมี่ปลา  หมี่กระจัง  หมี่ข้อ  ทำเป็นหมี่คั่นมิได้ทอเป็นผ้าหมี่ทั้งผืน  แต่หากมีลายต่างๆ มาคั่นไว้  สีที่นิยม  คือ  สีเขียว  สีน้ำเงิน  สีแดง  สีม่วง  พื้นมักใช้เครื่อหูกด้วยสีเปลือกอ้อย  นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายขาวสลับดำในกลุ่มภูไท

                                เสื้อ นิยมทำเป็นเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วน  ติดกระดุมธรรมดา  กระดุมเงิน  หรือเหรียญสตางค์  เช่น  เหรียญสตางค์ห้า  สตางค์สิบ  มาติดเรียงเป็นแถว  นิยมใช้ผ้าย้อมครามเข้ม  ในราว  พ.ศ.2480 ได้มีผู้นำขลิบแดงติดที่เสื้อ  เช่นที่คอ สาบเสื้อ ปลายแขน เพื่อใช้กับฟ้อนภูไทสกลนครและใช้กันมาจนทุกวันนี้
                                ผ้าห่ม การทำผ้าห่มผืนเล็กๆ  เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มพื้นเมืองอีสานมานานแล้ว  ผ้าห่มใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาว  ใช้คลุมไหล่  เช่นเดียวกับกลุ่มไท-ลาว ที่นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่  ผ้าห่มของกลุ่มชนต่างๆ  ในเวลาต่อมาทำให้มีขนาดเล็กลง  ทำเป็นผ้าสไบเป็นส่วนประดับแทนประโยชน์ใช้สอยเดิมคือห่มกันหนาวหรือปกติปิดร่างกายส่วนบนโดยการห่มทับเสื้อผ้า  นอกจากนี้ยังมีผ้าแพรวาซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน  อำเภอคำม่วง  จังหวัดกาฬสินธุ์  นับเป็นผ้าจ่องที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน

                                        นอกจากผ้าจ่องแล้ว  ชาวภูไทยังมีลายผ้า  ซึ่งใช้เป็นผ้ากั้นห้องหรือใช้ห่มแทนเสื้อกันหนาวหรือต่อกลางสองผืนเป็นผ้าห่มขนาดใหญ่พอสมควร  แหล่งผ้าลายที่มีชื่อ  คือ  ผ้าลายบ้านนางอย                   กิ่งอำเภอเต่างอย  จังหวัดสกลนคร  การแต่งกายของชาวภูไทยังนิยมสวมสร้อยคอ  สร้อยคอมือ  ข้อเท้า (ก้องแขน ก้องขา)  ด้วยโลหะเงิน  เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรง  ในสมัยโบราณใช้ผ้ามนหรือแพรมนทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ  ม้วนผูกมวยผมอวดลวดลายผ้าด้านหลัง  ในปัจจุบันใช้ผ้าแถบขนาดเล็กๆ สีแดงผูกแทนแพรมน