ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของชาวภูไทกะป๋อง
                กล่าวถึงเมื่อครั้งภูไทอยู่ที่เมืองน้ำน้อยอ้อยหนู  (เมืองแถน  เมืองนาน้อยอ้อยหนู)  ในสิบสองจุไทในดินแดนแม่น้ำแท้หลวง  (ซงกอย)  หรือแม่น้ำแดงในปัจจุบัน  ได้กล่าวถึงขุนเพาญาว  เจ้าเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูมีลูกชาย  คน  คือ  เจ้าหุน , เจ้าหาญ  และเจ้าหานดง  ขุนเพาญาวได้ปกครองไพร่ฟ้าเจ้าแผ่นดินด้วยความสุขมาช่วงหนึ่งบ้านเมืองประสบภาวะฝนแล้ง  ข้าวไร่  ข้าวนาเสียหาย  เก็บเกี่ยวผลไม่พออยู่พอกิน  ประกอบกับความแห้งแล้งมีติดต่อกันหลายปี  อีกทั้งเจ้าขุนต่างก็ขัดเคืองกัน  ขุนเพาญาวพร้อมครอบครัวบ่าวไพร่  จึงได้อพยพลงมาทางใต้ขบวนเดินเท้ารอนแรมผ่านภูผาป่าเขามาเป็นเวลาหลายเดือน  เนื่องจากขบวนประกอบด้วยผู้คนจำนวนมาก  จึงเดินทางช้าหากพบทำเลเหมาะๆ  ก็หยุดพักตั้งค่ายพัก  4-5  วัน  ครั้นพอหายเหนื่อยรวบรวมเสบียงได้บ้าง  ก็ออกเดินทางมุ่งห้าลงใต้ต่อไปเป็นอย่างนี้เรื่อยมา

                ช่วงหนึ่งขุนเพาญาวได้สั่งให้ขบวนหยุดพัก  ณ  ที่แห่งหนึ่ง  ด้วยเห็นว่าเป็นทำเลเหมาะ  วันหนึ่งขณะที่ต่างคนต่างก็ออกหาเสบียง  เจ้าหุนลูกชายขุนเพาญาวผู้ที่ยิงกวางบาดเจ็บได้พร้อมพรรคพวก  แกะรอยเท้าไปอย่างกระชั้นชิด  จนไปพบกวางตัวดังกล่าวได้ตายแล้ว  เป็นการบังเอิญกวางตัวที่ตามนั้นอยู่ตรงหน้าเจ้าหานผู้เป็นน้อง  ต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มเถียงกันว่ากวางควรจะเป็นของตนเพราะตนเป็นคนยิงเจ็บมา  เหตุการณ์ลามปามไป  ด้วยต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมลดละ  ร้อนถึงขุนเพาญาว  ผู้เป็นพ่อต้องมาแก้ปัญหาช่วยตัดสิน  ขุนเพาญาวดูที่รูปการและซักถามทั้งสองฝ่ายแล้วตัดสินใจว่า  กวางตัวดังกล่าวให้เป็นของน้องชาย  เจ้าหุนเสียใจมาก  เป็นว่าบิดาไม่อยู่ในสัตย์ธรรม  ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายน้องไม่รักตน  จึงได้ชักชวนบ่าวไพร่ผู้รักใคร่พร้อมครอบครัว  อพยพเรียกออกจากขบวนของบิดาไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ 

                ปรากฎว่ามีผู้คนติดตามไปจำนวนมาก  ขบวนอพยพรอนแรมไปในป่าหลายวัน  ผู้คนได้รับความลำบากเป็นอันมาก  ในอดีตภูไทเรานับถือผีฟ้า  ซึ่งเป็นการถือตามอย่างฮ่ออยู่บ้าง  เจ้าหุนและบ่าวไพร่ได้คิดว่าขบวนอพยพภูไทนี้  ต่อไปข้างหน้าจะได้พบกับภัยอันตราย  อุปสรรคต่างๆ  ตลอดจนจะต้องมีศึกสงครามเป็นแน่แท้ต่างจนใจด้วภูไทเราไม่มีเจ้าผู้ยึดเหนี่ยว ผนึกขวัญหรือเป็นที่พึ่งทางใจช่วยคุ้มภัยเลย  ครั้นขบวนอพยพมาถึงธารน้ำแห่งหนึ่งเห็นเป็นที่เหมาะ  จึงให้หยุดขบวนตั้งเป็นค่ายพัก  เมื่อคิดว่าขบวนพร้อมอีกเมื่อใดจึงจะเริ่มอพยพกันอีกด้านหลังของค่ายพักนั้นเป็นภูเขาใหญ่  มีหน้าผาสูงชันแหงนดูจนคอตั้งบ่า  ครั้นค่ำลงเจ้าหาญจึงให้สร้างศาลเพียงตาขึ้นหลังค่ายพักเชิงผาสูง  ผู้คนบ่าวไพร่ต่างพร้อมใจกันอธิษฐานอันเชิญเทพยดา  ฟ้าดินเจ้าภูเจ้าผา  เจ้าป่าเจ้าเขา  ให้มาสถิตอยู่  ณ  ศาลนั้นและคอยเป็นกำแพงคุ้มภัยขบวนของชาวภูไทตลอดไปให้อยู่เป็นขวัญและกำลังใจของคนภูไททุกที่ด้วย 

                 ครั้นทำพิธีเสร็จได้พร้อมกันจัดหาดอกไม้ธูปเทียนบูชา  จัดสำรับกับข้าวคาวหวานเลี้ยง  เรียกชื่อเทพที่สถิตอยู่ศาลแห่งนั้นว่า  “เจ้าปู่ฯ  หรือ  เจ้าปู่มเหสักข์”  ผู้คนในขบวนต่างก็ฉลองร่วมกันเป็นพิธีด้วย  เกี่ยวกับความหมายของคำว่า  “มเหศักดิ์”  หรือ  “มเหสักข์”  มีความหมายตามพจนานุกรม  ปรากฎดังนี้
                            มเหศักดิ์   แปลว่า  เจ้าผี  (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองในถิ่นนั้น  ที่เรียกว่า  บรรพบุรุษ)
                            มเหสักข์   แปลว่า  เทวดาผู้เป็นใหญ่
                            มเหศ        แปลว่า  พระอิศวร
                ขบวนอพยพได้รอนแรมเรื่อยมาค่ำลง  ณ  ที่ใดก็ให้ตั้งค่ายพัก  เจอที่เหมาะสมก็พักันหลายวัน  ตั้งค่ายลงที่ใดก็ตั้งศาลเจ้าปู่ขึ้นไว้เคารพบูชามิได้ขาด  มุ่งลงทางใต้เรื่อยมา  พอถึงฤดูฝนการเดินทางลำบากก็หยุดพักขบวน  ครั้นพอตกหน้าแล้งก็ออกเดินทางต่อไป  ตกบ่ายวันหนึ่งขบวนอพยพผ่านเข้าไปในป่าใหญ่อากาศร้อนอบอ้าวมาก  บัดดลเกิดไฟป่าโดยมิได้คาดฝัน  ไฟได้ลุกไหม้รายล้อมขบวนทุกด้านอย่างรวดเร็ว

                เสียงไฟประทุอื้ออึ้งไปหมด  บรรดาสัตว์ป่าก็ต่างวิ่งหนีไฟโดยไม่คิดชีวิต    บางตัววิ่งฝ่าเข้าไปในขบวนเหตุการณ์ชุลมุนคุมกันไม่อยู่ต่างคนต่างจวนตัวไม่รู้จะหนีไปทางทิศใด  จะคิดดับไฟก็เกินความสามารถ  เจ้าหุนเห้นจวนตัวนึกอะไรไม่ออก  ไพร่พลก็รอคำสั่งอยู่ด้วย  จนปัญญาเจ้าหุนพลันนึกได้จึงร้องขอความช่วยเหลือต่อเจ้าปู่มเหสักข์ว่า  “บัดนี้ลูกหลานกำลังได้รับความลำบากยิ่งถึงคราวจวนตัวไฟป่ามาถึงแล้ว  ขอบารมีท่าได้โปรดช่วยขจัดปัดเป่าช่วยคุ้มภัย  ช่วยเป็นกำแพงใหญ่กั้นไฟป่า  ณ  เวลาบ่ายอันสุดแสนจะเกรี้ยวกราดในครั้งนี้ให้แก่ลูกหลานด้วยเถิด”
                ท่ามกลางเสียงระงมร้องคร่ำครวญ  เสียงกู่ก้องหากัน  ประสานกับเสียงประทุ  กระพือไหม้ของไฟกลางเปลวไฟร้อนระอุนั้น  ปาฏิหาริย์เจ้าปู่ก็ปรากฎขึ้นไฟป่าได้อ่อตัวลงที่ไม่ดับก็เปลี่ยนทิศทางไปในทันที  พลันท้องฟ้าแจ่มใสอากาศปลอดโปร่ง  ขบวนอพยพต่างก็ปลอดภัยทั่วกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก  คนทั้งปวงเห็นเป็นนิมิตมงคลอย่างยิ่ง  แต่นั้นมาหากผู้ใดได้ทุกข์ตกระกำลำบากอะไร  ก็ได้อาศัยบนบานขอพึ่งบารมีเจ้าปู่ช่วยเหลือและปัดเป่าคุ้มภัยให้ตนตลอดมาจนบัดนี้
                เวลาล่วงผ่านไปเป็นหลายปี  ขบวนอพยพของชาวภูไทได้มาถึงที่เหมาะแห่งหนึ่ง  อยู่ระหว่าง  “ฮ่อมภู”  (ภูเขา)  ในภูอ้ากใกล้แดนญวนและใกล้กันกับเมืองวังอ่างคำ  พื้นที่เป็นทำลเหมาะแก่การทำข้าวไร่  ปลูกพริก  ปลูกฝ้าย  มีแม่น้ำไหลผ่านจะทำนาก็ทำได้  น้ำสายนี้ไหลผ่านลงไปยังเมืองวังอ่างคำซึ่งเป็นเมืองวังอ่างคำ  ซึ่งเป็นเมืองพี่เมืองน้องภูไทเหมือนกัน  เจ้าหุนจึงให้ตั้งเมืองให้ชื่อว่า  “เมืองกะป๋อง”  ทั้งสองเมืองนี้ห่างหันระยะทางเดินเท้า  2  วัน  (ประมาณ  4.5  กิโลเมตร)  ก็ถึง
                กงดินหรือดินแดนที่ตั้งเมืองกะป๋องนั้น  พวกข่าได้มาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมาจึงได้เกิดรบพุ่งกันขึ้น  ระหว่างพวกภูไท  (เมืองวังอ่างคำ  เมืองกะป๋อง)  กับพวกข่า  ทั้งสองฝ่ายรบกันอยู่นานหลายวัน  ไพร่พลทั้งสองฝ่ายต่างล้มตายจำนวนมากแต่ยังไม่มีใครชนะ  หัวหน้าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่า  หากจะรบกันต่อไปอีกก็จะยิ่งเสียไพร่พลบ้านเมืองก็จะเกิดยุคเข็ญ  จึงได้ตกลงเสี่ยงบุญกรรมกัน  (เสี่ยงอำนาจวาสนา)

                หากฝ่ายใดสามารถยิงหน้าผาหินเข้า  (ลูกธนูปักติดหน้าผา)  ก็จะได้เป็นเจ้าเมืองและจะได้เป็นฝ่ายปกครอง  ฝ่ายใดที่แพ้ก็จะต้องยอมเป็นข้อยข้า  (ผู้รับใช้)  แก่อีกฝ่ายหนึ่ง  พวกข่าต่างก็มั่นใจว่าตนจะเป็นผู้ชนะด้วยถือว่าตนเป็นผู้ชำนาญในเรื่องหน้าไม้  รู้จักทำหน้าไม้มาก่อน  ฝีมือการยิงหน้าไม้ก็เป็นเลิศกว่าชาวภูไท  ทั้งยังได้เตรียมการจัดสร้างหน้าไม้ใหญ่  มีขายาวถึง  3  ศอก  เพื่อหวังจะให้ลูกหน้าไม้หรือลูกธนูมีกำลังมาก  จะได้ปักเข้าไปในเนื้อหินผาได้  เมื่อถึงวันนัดเสี่ยงบุญกรรม  หัวหน้าพร้อมไพร่พลจำนวนมากก็ยังไปหน้าผาที่นัดหมาย  ข่าเป็นฝ่ายยิงก่อนด้วยความมั่นใจ  เหตุการณ์ไม่เป็นไปดั่งที่คิดไว้  ลูกธนูข่าวิ่งเข้ากระทบผาด้วยความแรง  ลูกธนูแตกยับด้วยแรงปะทะแล้วหล่นลงสู่ดิน  ส่วนภูไทเป็นฝ่ายยิงทีหลัง  เครื่องมือในการยิงก็ใช้ธไม้ไผ่เล็กๆ  เหลาจัดทำเพียงลวกๆ  ปลายลูกธนูก็ไม่แหลมซ้ำยังเอาขี้สูด  (ชันนางโรง)  ติดไว้ด้วย  เวลายิงก็น้าวตึงธนูแต่เพียงพอสมควร  เมื่อปล่อยลูกธนูออกไปลูกธนูก็วิ่งไปกระทบหน้าผาเพียงเบาๆ  แล้วปักติดอยู่

                จนพวกข่าเห็นเป็นอัศจรรย์และยอมแพ้แก่บุญวาสนาชาวภูไท  ฝ่ายภูไทจึงได้เป็นเจ้าเมือง  ข่าบางส่วนที่ไม่พอใจได้หนีไป  ชาวภูไทก็จัดส่งคนไปกาดแต่ไม่ทัน  จังได้ตามไปทันกันที่เขาลูกหนึ่ง  ข่าได้เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำตรงหน้าผา  ภูไทพรอยข่าจำนวนมากหายเข้าไปในถ้ำจึงได้จัดหาพริกแห้งนำมาเผามาคั่วเพื่อรม  (อูด)  ให้พวกข่าออกมา  พวกข่าทนไม่ได้จึงยอมแต่โดยดี  ผาและช่องทางหน้าผาที่กล่าวมา  ผู้เฒ่าต่างก็เรียกว่า  “ผาบุญ”  “ผากาด”  “ผาอูด”  ต่อมาจนกระทั่งบัดนี้  พวกข่าได้ให้นางข่าเป็นบรรณาการก่เจ้าหุนคนหนึ่ง  แต่ด้วยความเคียดแค้นผูกใจเจ็บในเหตุการณ์รบราฆ่าฟันกันด้วยคนภูไทได้ล้มตายเป็นจำนวนมาก  เจ้าหุนจึงฆ่าเสียให้แล่เนื้อสับจนละเอียด  สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า  “เซมาฟัก”  หรือ  “เซมะฟัก”  มาจนบัดนี้

                เมืองกะป๋องตั้งอยู่ทางทิศใต้  เมืองวังอ่างคำอยู่ทางเหนือในเขา  เรียกว่า  สันภูอ้าก  ทั้งสองเมืองมีน้ำ  “เซงี้”  ไหลผ่าน  น้ำเซงี้นี้อุดมไปด้วยแร่ทองคำ  ผู้คนต่างก็มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น  คือ  “บ้างคำ”  (ร่อนแร่ทองคำ)  ด้วยการตักกรวดทรายในลำน้ำเซงี้ขึ้นร่อน  พอเห็นเม็ดทรายสีทองหรือผงทองแล้ว  ก็เอาแข่วฝ้ายชุบเอาขึ้นมาใส่ภาชนะ  (แข่วฝ้าย  ก็คือ  ปุยฝ้ายที่ชาวบ้านจัดเตรียมหลังจากดีดตีด้วยคันโต้งจนพองได้ที่แล้วก็จัดทำเป็นหลอดๆ  ขนาดเท่านิ้วมือ  เพื่อนำไปเข็นเป็นเส้นฝ้าย)  วันหนึ่งจะได้บ้างคำคนละ  2-3  หุน  ความจริงชื่อเดิมไม่ได้มีคำว่า  “อ่างคำ”  เป็นภาษาภูไท  “อ่าง”  แปลว่า  หลุมหรือบ่อ  “คำ”  ก็คือทองคำ  “อ่างคำ”  จึงแปลว่า  บ่อทองหรือขุมทอง  ทิศตะวันออกเมืองกะป๋อง  เมืองวังข้ามส้นอ้ากไปจะพบหมู่บ้านหนองปิง  เป็นหมู่บ้านภูไทอย่างเราและหากขึ้นเขาไปทางทิศตะวันออกอีกก็จะพบไม้ล้มแบ่งแดนแกว  ซึ่งถือกันว่าเป็นเส้นเขตระหว่างไทยกับญวน  กล่าวกันว่าเป็นสันเขาสูงมีผาลานหินแผ่นกว้าง  ประมาณ  20,30  ถึง  90,100  เมตร  เป็นแนวยาวติดต่อกันไปตลอดสันเขา  ต้นไม้จึงขึ้นบนหินไม่ได้คงมีแต่นอกแนวหินออกไป  ซึ่งพื้นดินสันเขาได้ลาดเอียงลงไปยังเชิงเขา  ทุกด้านต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาจึงหันเหชี้ออกไปคนละทางเพราะถูกธรรมชาติกำหนด

                เจ้าหุนเจ้าเมืองกะป๋อง  มีลูกชาย  คน  ชื่อ  ท้าวคำผงและท้าวคำเขื่อน  ไพร่ฟ้าชาวเมืองอยู่เป็นสุขสืบมา  ครั้นเมื่อสิ้นสมัยเจ้าหุนแล้ว  ท้าวคำผงก็ได้เป็นเจ้าเมืองแทน  ได้ปกครองไพร่ฟ้าเจ้าแผ่นดินโดยธรรมสืบมาจนชั่วอายุไข  ท้าวคำเขื่อน  ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อ  ในช่วงเวลาตอนนั้นไทยได้ทำศึกแพร่ขยายอาณาเขต  รบได้ชัยชนะตลอดตั้งแต่แคว้นสิบสองปันนาเหนือเมืองแถงเรื่อยไปทางทิศตะวันตกจดพม่า  ทางใต้ก็จดแหลมมลายูได้หลวงพระบาง  เวียงจันทน์  การศึกติดพันไปถึงญวนซึ่งปรากฎว่าญวนได้มาตีเมืองรายทางและเมืองชายอาณาเขตไทยอยู่เสมอ  เพื่อประสงค์จะได้เป็นเมืองเอื้ออำนวยฝ่ายญวนในการทำสงครามใหญ่  เป็นที่เก็บภาษี  เสบียงอาหาร  และคลังกระสุนดินดำ  ทางกรุงเทพฯจึงมีนโยบายให้อพยพคนที่อยู่ชายอาณาเขตติดต่อแดนญวนให้เข้ามาใกล้พระนคร  กองทัพไทยได้ออกกวาดต้อนผู้คนตามเมืองต่างๆ  นำอพยพมาในพระราชอาณาเขตเป็นจำนวนมาก  ชาวเมืองวังก็ได้อพยพมาในครั้งนี้ด้วย  ส่วนชาวเมืองกะป๋องได้พากันหนีเข้าป่า

                ครั้นกลับเข้ามาอยู่เมืองกะป๋องอีก  กองทัพไทยจึงได้เกลี้ยกล่อมชวนให้อพยพข้ามมาตั้งบ้านเมืองอยู่ทางฝั่งนี้ได้โฆษณาเชิญชวนว่าฝั่งนี้อุดมสมบูรณ์  ข้าวมากปลามัน  เข้าป่าไปหาฟืนเวลาชักดึงดุ้นฟืนก็ดึงหางเต่าหางแลนล้วนอุดมสมบูรณ์   ท้าวคำเขื่อน  เจ้าเมืองเห็นว่า  ภูไทกะป๋องควรจะได้อพยพด้วย  ประกอบกับได้ทราบจากพี่น้องซึ่งอพยพมาอยู่แล้วได้กลับไปเยี่ยมบ้านเดิมทางฝั่งซ้ายว่า  ภูไทที่ไปอยู่ก่อน  ทางบ้านเมืองท่านให้เลือกที่อยู่ที่ตั้งเมืองตามความพอใจ  จึงได้เตรียมการอพยพไว้  ยังไม่ทันจะได้อพยพท่านก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน  ณ  เมืองกะป๋อง  ท้าวราชนิกูลผู้เป็นลูกจึงได้พาครอบครัวบ่าวไพร่  อพยพเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าทางตะวันตกสู่กรุงสยามข้ามน้ำโขงขึ้นฝั่งไทยตรงพระธาตุพนม  ที่จังหวัดนครพนม  ขบวนในครั้งนั้นประกอบด้วย ภูไทถึง  400  ครัวเรือนและตรงกับปี  พ.ศ.  2387  ท้าวราชนิกูลและชาวเมืองภูไทกะป๋อง  (เมิงกะป๋อง)  ได้อัญเชิญเจ้าปู่มเหสักข์เทพคู่เมืองมาด้วย  ขบวนมุ่งหน้าเรื่อยมาจนถึงจังหวัดสกลนคร  ครั้งนั้นพระยาประเทศธานี  (คำ)  เป็นเจ้าเมืองสกลนคร  ชาวภูไทได้หยุดขบวนพักอยู่ที่หนองสองห้องบ้าง ตรงจวนข้าหลวงเก่าบ้างและตรงวัดสะพานคำบ้าง  หนองสองห้องที่กล่าวถึงในที่นี้ในปัจจุบันคือ  สถานีประมงหนองหาร  ส่วนจวนเก่าอยู่ทางตะวันตกสนามมิ่งเมือง

                ท้าวราชนิกูลเห็นว่าชาวภูไทยอัตคัดที่ทำกิน  ทำให้กระอักกระอ่วนใจ  เนื่องจากภูไทตกอยู่ในสถานะ ผู้อาศัยจะคิดขยับขยายก็ติดที่ของชาวเมือง  โอกาสที่จะขยับขยายตั้งเป็นเมืองคงจะทำได้ยาก  อีกประการหนึ่งชาวภูไทคงจะได้รับการบีบคั้นทางใจไม่น้อย  จึงได้นัดหมายรวมขบวนอพยพต่อไปอีก  ณ  วัดสะพานคำ เมื่อขบวนพร้อมจึงเลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ตะวันตก  โดยมุ่งจะไปอยู่กับเมืองหนองหาน  ความได้ทราบถึงเจ้าเมืองสกลนครและได้สั่งให้พรรคพวกไพร่พลทหารออกห้ามปรามไม่ให้อพยพ  ฝ่ายตามได้มาทันขบวนที่สะพานหินและหนองสนม  ท้าวราชนิกุลเห็นดังนั้นจึงร้องสั่งให้ทุกคนเตรียมพร้อมตนเองก็ได้ขับขี่ม้าสีลาน  (สีตะกั่ว)  เข้าขวางฝ่ายตาม  ถอดดาบออกเงื้อง่าประกาศก้องว่า  หากขัดขวางขบวนอพยพก็จะได้เห็นกัน  ภูไททั้งหมดจะประจัญบานฝ่าออกไปให้ได้  ฝ่ายติดตามเห็นว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ถึงขั้นฆ่าฟันกันจึงมิได้ขัดขวางแต่ได้ตามสังเกตการณ์ขบวนอยู่ห่างๆ  ขบวนได้มุ่งหน้าสู่ตะวันตกผ่านบ้านพังขว้าง  บ้านพาน  ผ่านเลยถึงเมืองพรรณนานิคม  ครั้นผ่านพรรณนานิคมเข้าเขตเมืองหนองหานแล้ว  อุปนิสัยเดิมซึ่งเคยอยู่ภูเขามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ได้เป็นแรงจูงใจให้ชาวภูไทเหขบวนเลี้ยวซ้ายมุ่งสู่ภูพาน  เมื่อที่เหมาะแห่งหนึ่งมีลำน้ำไหลผ่าน  จึงให้หยุดขบวนและตั้งบ้านให้ชื่อว่า  “บ้านพุ่ม”  ที่ตั้งบ้านพุ่มไม้ปัจจุบันยังมีคนเรียกติดปากกันอยู่ว่า  บ้านพุ่มหนองปิง   ห้วยบ้านพุ่ม  อยู่ในท้องที่อำเภอนิคมน้ำอูน  

                ต่อมาผู้คนมากขึ้นข้าวไร่ไม่พออยู่พอกินต้องอดมื้อกินมื้อ  ท้าวราชนิกูลและชาวภูไทบ้านพุ่มจึงได้ตระเวนออกหาทำเลที่เหมาะแก่การทำนา  ซึ่งหากพบแล้วจะได้ตั้งเป็นบ้านภูไทแห่งใหม่ด้วย  ได้เดินทางไปถึงบ้านชาวลาวที่บ้านโต้น  บ้านม่วง  ได้ปรึกษาซักถามถึงทำเลที่เหมาะกับการตั้งบ้านน้ำท่าอุดมสมบูรณ์กับผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งสองบ้าน  ผู้เฒ่าผู้แก่ได้แนะนำว่าให้เดินทางไปทิศตะวันออกได้พบที่ลุ่มเป็นเลิง  (ที่ราบลุ่ม)  บ่อนน้ำไหลเซาะบ่อนเคราะห์ไหลหนี  ชาวภูไทจึงได้เดินทางผ่านป่าดงไปทางตะวันออก  ได้พบที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา  ตรงกลางมีหนองน้ำอุดมไปด้วยปลา  ทางทิศเหนือห้วยปลาหาง  จึงเห็นพร้อมให้ตั้งเป็นบ้านเรือนขึ้น  ณ  ที่นั้นให้ชื่อว่า  บ้านหนองหอย  ภูไทกระป๋องเราได้ตั้งหลักฐานบ้านเมืองลงที่บ้านหนองหอยนี้เมื่อประมาณ  พ.ศ. 2390 ส่วนบ้านพุ่มนั้นเมื่อผู้คนย้ายออกไปแล้วก็กลายเป็นบ้านร้าง  ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่า  “บ้านฮ้างก๊กซิด๋า” เพราะมีสภาพเป็นบ้านร้างเต็มไปด้วยต้นฝรั่ง  ส่วนบ้านโต้นและบ้านม่วง  ต่อมาผู้คนได้ย้ายออกไปอยู่ถิ่นอื่น  บ้านจึงร่วงโรยร้างไปเล่ากันว่าผู้คนได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านจำปา

                ท้าวราชนิกูลและชาวภูไทกระป๋อง  ตั้งบ้านหนองหอยได้  9  ปี  พระยาประเทศธานี  (คำ)  เจ้าเมืองสกลนคร  ได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท้าวราชนิกูลไปขึ้นกับเมืองสกลนคร  และสัญญาว่าหากท้าวราชนิกูลยินยอมไปขึ้นกับเมืองสกลนครแล้ว  เจ้าเมืองสกลนครก็จะเป็นธุระตั้งบ้านหนองหอยเป็นเมืองให้ในภายหลัง  ท้าวราชนิกูลไม่รู้เท่าทันเล่ห์กลของพระยาประเทศธานี  จึงได้พาครอบครัวบ่าวไพร่ส่วนหนึ่งไปอยู่ที่เมืองสกลนคร  (ปี 2390 โดยประมาณ)  ส่วนทางบ้านหนองหอยนั้น  พระยาประเทศธานีได้แต่งตั้งให้ท้าวประทุม  มาจากเมืองจำปาชนบท ซึ่งเป็นคนภูไทในตระกูลท้าวราชนิกูลเป็นผู้ดูแลแทนไปก่อน  บ้านหนองหอยก็ได้ขึ้นกับเมืองสกลนคร  ท้าวราชนิกุลได้อยู่ที่เมืองสกลนครเป็นเวลา  17  ปี  (พ.ศ. 2416)  จนท้าวประทุมผู้เป็นนายกองแห่งบ้านหนองหอยได้ถึงแก่กรรม  (ที่มาแห่งนามสกุล  วงศ์ประทุม)

                ล่วงมาอีก  3 ปี (ปีพ.ศ. 2419)  ท้าวราชนิกุลเห็นว่าพระยาประเทศธานีชักจะไม่ชอบมาพากลด้วยเวลาได้ล่วงเลยมาตั้งหลายปีแล้วเรื่องขอตั้งเมืองยังไม่เริ่มต้นเลยดูใจกันมานานแล้ว  จึงทวงสัญญากับพระยาประเทศธานี  ด้วยอดรนทนไม่ได้  อีกประการหนึ่งท่านก็อายุมากแล้วเกรงจะเสียการ  ได้ร้องขอให้ดำเนินการขอตั้งบ้านหนองหอยขึ้นเป็นเมืองไปยังกรุงเทพฯ  ตามที่ได้สัญญาไว้แก่กันเมื่อก่อน  พระยาประเทศธานีขัดเคืองและไม่ดำเนินการให้ตามประสงค์  เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามประสงค์  ท้าวราชนิกูลจึงให้ท้าวสุพรม  บุตรชายของท่านลงไปร้องเรียนต่อพระยาภูธรอภัย  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ  พระยาประเทศธานีทราบเรื่องดังกล่าวจึงโกรธมากหาว่ากระด้างกระเดื่องได้สั่งให้จองจำท้าวราชนิกูล พร้อมครอบครัวไว้ทั้งหมด  หลักฐานบันทึกต่างๆ  ก็ได้ถูกยึดไว้สิ้น

                ท้าวสุพรมได้เดินทางไปร้องเรียนต่อพระยาภูธรอภัยที่กรุงเทพฯ  ว่าท้าวราชนิกูล เคยเป็นเจ้าเมืองเมื่อครั้งยังอยู่ฝั่งซ้ายมาแล้ว  บัดนี้ได้อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านหนองหอย  แขวงเมืองสกลนคร  ประสงค์จะขอตั้งบ้านหนองหอยเป็นเมืองตามตระกูลท่านเสนาบดีจึงได้สืบประวัติ  ท้าวราชนิกุลจากเมืองต่างๆ  ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าท้าวราชนิกูลและตระกูลของท่านเคยเป็นเจ้าเมืองมาก่อนตั้งแต่ครั้งเมื่อยังอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเมื่อเหตุผลและหลักฐานเพียงพอเช่นนี้  ท่านเสนาบดีจึงให้ท้าวสุพรมนำท้องตราพระราชสีห์  (หนังสือราชการสั่งการ) จากกรุงเทพฯ  ขึ้นมาสั่งการให้พระยาประเทศธานี  (คำ)  จัดดำเนินการขอตั้งเมืองให้แก่ท้าวราชนิกูลเสีย  พระยาประเทศธานีไม่ดำเนินการอย่างใด  และไม่ออกหนังสือรับรองให้ด้วยเพียงแต่ได้ปลดปล่อยท้าวราชินิกูลพร้อมครอบครัว  บ่าวไพร่  ให้พ้นจากการจองจำเท่านั้น

                ในปี  พ.ศ. 2419  ปีชวด  อัฐศก  ท้าวราชนิกูลพร้อมครอบครัว  พร้อมบ่าวไพร่ก็อพยพออกจากเมืองสกลนครมาอยู่ที่บ้านหนองหอยตามเดิม  (จุลศักราช  1218)  ครั้นเห็นว่าเหตุการณ์ปกติสุขดี  ท้าวสุพรมจึงได้เดินทางไปร้องเรียนต่อพระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหาน  ซึ่งเป็นเมืองทางทิศตะวันตกและได้ขอขึ้นกับเมืองหนองหานด้วย  ได้ขอร้องให้พระพิทักษ์เขตขันธ์รับรองเพื่อขอยกฐานะบ้านหนองหอยขึ้นเป็นเมือง  พอดีกับในช่วงนั้นพระยามหาอำมาตย์  (ชื่น)  เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อที่เมืองเวียงจันทน์   โดยไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองหนองคาย  พระพิทักษ์เขตขันธ์และท้าวสุพรมไปร้องเรียนต่อพระยามหาอำมาตย์  (ชื่น) หลังจากที่ท่านได้ซักถามเรื่องราวความเป็นมาของท้าวสุพรมแล้ว  ท่านจึงรับจะดำเนินการตั้งเมืองให้  แต่ในขณะนั้นกำลังติดพันอยู่กับการปราบฮ่อ  จึงยังดำเนินการไม่ได้  หากเสร็จการปราบฮ่อเมื่อใดแล้วให้พระพิทักษ์เขตขันธ์และท้าวสุพรมลงไปติดต่อที่กรุงเทพฯ  อีกครั้ง

                ท้าวสุพรหมได้จัดเลขไพร่  จำนวน  24  คน  เข้ามาสมทบพระพิทักษ์เขตขันธ์ร่วมกับกองทัพใหญ่เดินทางไปปราบฮ่อถึงเวียงจันทน์และทุ่งเชียงคำจนราบคาบ  พอเสร็จศึกทราบข่าวว่าท้าวราชนิกูล  ผู้เป็นบิดาป่วยหนักจึงได้กลับบ้านหนองหอย  พอดีบิดาได้ถึงแก่กรรม  ครั้นเมื่อจัดงานศพบิดาแล้วจึงได้กลับไปทัพอีก พระยามหาอำมาตย์ทราบเรื่องดังกล่าวทำให้ท่านรักและเห็นใจท้าวสุพรมมากด้วยท้าวสุพรมเป็นคนซื่อสัตย์รับราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะ  กล้าหาญ  จึงได้ตั้งให้เป็น  “พระพรหมสุวรรณภักดี”  ปฏิบัติราชการเป็นนายกองสืบตำแหน่งแทนบิดา

                พ.ศ. 2420  พระพรหมสุวรรณภักดีกับพระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหาน  ได้ลงกรุงเทพฯ เนื่องจากได้แรงสนับสนุนและความช่วยเหลือจากพระยามหาอำมาตย์  (ชื่น)  การดำเนินการเรื่องสะดวกขึ้นมาก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  ได้ทรงทราบเรื่องมาก่อนแล้ว  เมื่อพระพรหมสุวรรณภักดีและพระพิทักษ์เขตขันธ์ไปถึงเมืองจึงโปรดให้เข้าเฝ้าฯ  ได้ทรงชื่นชมยินดีมากและโปรดเกล้าฯ  พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ให้พระพรหมสุวรรณภักดีเป็นรองมหาอำมาตย์เอกสุรินทรบริรักษ์  โปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งบ้านป่าเป้าขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิและยุบเป็นอำเภอ                                                                                 เมื่อ  พ.ศ.  2440 รองอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์  ได้รับพระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์  ดังนี้ ถาดหมาก  คนโททำด้วยเครื่องเงิน  1  สำรับ  (ชุด)  เสื้อเยียรบับลายดิ้นทอง  (เสื้อยศ)  สัปทนทำด้วยแพรหลินแดง 1 อัน  หอกดาบและง้าวซึ่งทำด้วยเหล็กอย่างดีอีกจำนวนหนึ่ง
                 พระสุรินทรบริรักษ์  เกิดที่เมืองกะป๋อง เมื่อ  พ.ศ. 2385 ก่อนภูไทจะอพยพ  2  ปี  ถึงแก่กรรมที่เมืองวาริชภูมิ  เมื่อพ.ศ.  2455 เก็บบรรจุศพรักษาไว้  2  ปี  ได้รับพระราชทานเพลิงศพ  ในปีพ.ศ. 2457  และจะขอยกผลงานท่านกล่าวแต่บางส่วนที่เห็นเด่นชัดดังนี้  คือ
                              1. นำไพร่พล  24  คนร่วมกับกองทัพพระพิทักษ์เขตขันธ์ ไปปรามฮ่อถึงทุ่งเชียงคำและเวียงจันทร์
                              2. คุมกองเกวียนเสบียง  33  เล่ม  กับไพร่พลภูไท  30  คน  ไปช่วยกองทัพไทยทำสงครามกับฝรั่งเศสโดยยกไปทางเมืองนครพนม
                              3. สร้างอุโบสถวัดสระแก้ววารีราม  วัดเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าปู่มเหสักข์ปัจจุบัน
                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  ได้ทรงพระราชทานนามสกุลแก่รองมหาอำมาตย์เอกพระสุรินทรบริรักษ์  กับขุนศักดา  โดยอาศัยนามของบรรพบุรุษครั้งเมื่ออยู่เมืองกะป๋อง  คือ เอาชื่อท้าวคำผง ผู้เป็นลุงของท้าวราชนิกุล  เปลี่ยนใช้ศัพท์ใหม่ให้สละสลวยว่า  “เหมะธุลิน”
                                เหมะธุลิน  มาจากคำว่า คำ  คือ  ทอง , ทองคำ  เป็น  เหมะ , เหม
                                ผง  คือ  สิ่งที่ละเอียด  , ธุลี   ดิน    ธุลิน 
                                นำมาต่อกันเข้าจึงเป็น เหมะธุลิน ซึ่งแปลกันด้วยความหมายง่ายง่ายว่า "ผงทอง"

                แผ่นทองตราตั้งนามสกุล  เหมะธุลิน  นี้คุณลุงวีรพันธ์  ศรีนุกูล  เล่าว่า  ท่านเองก็เคยเห็นเป็นแผ่นทอง  ขนาดประมาณ  12 × 12 เซนติเมตร  มีสีทองแวววาว แต่ปัจจุบันนี้หาไม่พบแล้ว  ส่วนหมื่นหน้าได้นามสกุลว่า  “แก้วคำแสน”   ที่มาของคำว่า  แก้วคำแสนนี้  ไม่มีผู้ใดทราบด้วยเวลาล่วงเลยมานาน  เรื่องจึงหดหายไป  เข้าใจว่าคณะเดินทางไปครั้งนั้น  คงได้รับสกุลกันทั่วหน้า แต่ไม่มีหลักฐานหรือคำกล่าวเล่าต่อพออ้างอิงได้