ธรรมเนียม

ขนบธรรมเนียมของชาวภูไทกะป๋อง

                ฮีตสิบสองมาจากคำ  2  คำ  คือ  ฮีต  กับ  สิบสอง  ฮีตมาจากคำว่า  จารีต  หมายถึง  สิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงาม  ชาวอีสาน  เรียกว่า   จาฮีต  หรือ  ฮีต  สิบสอง  หมายถึง   เดือนทั้ง  12  เดือนในหนึ่งปี  ฮีตสิบสอง  จึงหมายถึง  ประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ  ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี  ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมาล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมคนในขุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน  เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสามัคคี  มีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่น  ซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน   ประเพณีอีสานส่วนใหญ่จะมีเอกลักษณ์แตกต่างจากประเพณีภาคอื่นๆ  (อาจจะคล้ายกับประเพณีของภาคเหนือบ้างเพราะมีที่มาค่อนข้างใกล้ชิดกัน)  ประเพณีอีสานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมล้านช้าง  (แถบหลวงพระบาง  ประเทศลาว)  จึงจะเห็นได้ว่า  ประเพณีของชาวอีสานและชาวลาวมีความสำคัญคล้ายกันเพราะมีที่มาเดียวกัน  และชาวอีสานกับชาวลาวก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำเยี่ยงญาติพี่น้องทำให้มีการถ่ายเทวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย
                ฮีตสิบสอง  ได้แก่
                                เดือนอ้าย  (เดือนเจียง)  :  บุญข้าวกรรม
                                เดือนยี่  :  บุญคูณลาน
                                เดือนสาม  :  บุญข้าวจี่
                                เดือนสี่  :  บุญผะเหวด
                                เดือนห้า  :  บุญสงกรานต์
                                เดือนหก   :  บุญบั้งไฟ
                                เดือนเจ็ด  :  บุญซำฮะ
                                เดือนแปด  :  บุญเข้าพรรษา
                                เดือนเก้า  :  บุญข้าวประดับดิน
                                เดือนสิบ   :  บุญข้าวสาก
                                เดือนสิบเอ็ด  :  บุญออกพรรษา
                                เดือนสิบสอง  :  บุญกฐิน

               
                1.  เดือนอ้าย  (เดือนเจียง)   :  บุญเข้ากรรม
                                บุญเข้ากรรมเป็นกิจกรรมของสงฆ์  เมื่อถึงเดือนอ้ายพระสงฆ์ต้องเข้ากรรม  ซึ่งเป็นพิธีที่เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม”  โดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติ(กระทำผิด)  ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์  เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนเอง  และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย  พิธีเข้าปริวาสกรรมจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้  โดยกำหนดไว้  9  ราตรี  พระภิกษุที่ต้องการเข้าปริวาสกรรมต้องไปพักอยู่ในสถานที่สงบ  ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน  อาจจะเป็นบริเวณวัดก็ได้  โดยมีกุฏิชั่วคราวเป็นหลังๆ  พระภิกษุที่เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่งๆ  จะมีจำนวนเท่าใดก็ได้แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้าปริวาสกรรม   และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์  20  รูป  มารับออกกรรม  พิธีทำบุญเข้ากรรมหรือเข้าปริวาสกรรมของพระภิกษุสงฆ์นี้ไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป  แต่จะถือว่าเป็นการปวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก  ส่วนกิจของชาวพุทธศาสนิกชน  ในบุญเข้ากรรมนี้  คือ  การหาข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคมาถวายพระ  ซึ่งถือว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป

                2.  เดือนยี่  :  บุญคูณลาน
                                การทำบุญคูณลานจะทำกันเมื่อได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว   ชาวอีสานจะเห็นความสำคัญของข้าวเป็นอย่างมากในพิธีนี้จะมีการนิมนต์พระสงฆ์ไปเทศน์ที่ลานนวดข้าว  (ลานนวดข้าวของชาวอีสานสมัยก่อนมักจะทำขึ้นในลานข้างบ้านหรือข้างทุ่งนาและมักจะนำมูลของควายมาลาดที่พื้นแล้วตากให้แห้งจะได้พื้นที่เรียบ)  มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ชาวบ้าน  ลานนวดข้าว  ที่นา  ต้นข้าว  และบริเวณใกล้ลานนวดข้าว  ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่การเกษตรกรรม  ทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์  ซึ่งเชื่อว่า  เจ้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข  ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป  เมื่อเสร็จพิธีทำบุญคูณลานแล้วชาวบ้านจึงจะขนข้าวใส่ยุ้ง  และเชิญขวัญข้าวคือพระแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวและทำพิธีสู่ขวัญข้าวสู่ขวัญเล้าข้าว  (ฉางข้าว)  เพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป  ประเพณีปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้แล้ว  เพราะชาวอีสานได้ทำนากันน้อยลง  และนำเอาเทคโนดลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้  เช่น การใช้เครื่องนวดข้าวแทนการนวดด้วยมือหรือใช้สัตว์นวด  (ทำให้ไม่ต้งมีลานนวดข้าว)

                3.  เดือนสาม  :  บุญข้าวจี่
                                บุญข้าวจี่เป็นการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา  ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า    ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถ  ซึ่งการทำบุญข้าวจี่นี้ชาวบ้านอาจจะไปรวมกันที่วัดหรือต่างคนต่างเตรียมข้าวจี่ไปเองแล้วนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด  มีการไหว้พระ  รับศีล  พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และตักบาตรด้วยข้าวจี่  แล้วยกไปถวายพร้อมภัตตาหารอื่นๆ  เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร  ซึ่งมูลเหตุที่มีการทำบุญข้าวจี่  เนื่องมาจากสมัยพุทธกาล  มีนางทาสชื่อ  “ปุณณทาสี”  ได้นำแป้งข้าวจี่  (แป้งทำขนมจีน)  ไปถวายพระพุทธเจ้า  แต่ใจของนางคิดว่าขนมแป้งข้าวจี่เป็นเพียงขนมของทาสที่ต่ำต้อย  พระพุทธองค์คงไม่ฉัน  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้จิตใจของนาง  จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ต่อหน้านาง  ทำให้นางเกิดปิติดีใจ  ชาวอีสานจึงได้แบบอย่างในการทำแป้งข้าวจี่นี้และการทำบุญข้าวจี่ถวายพระมาโดยตลอดโดยเฉพาะเดือนสามจะมีการทำบุญข้าวจี่มาถวายพระมาจวบจนปัจจุบัน  (การทำข้าวจี่ของชาวอีสานในช่วงเดือนสามนั้นเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น  ดังนั้นการจี่ข้าวในช่วงนี้ชาวบ้านก็จะได้รับไออุ่นจากการนั้งล้อมวงกันจี่ข้าวอีกด้วย)  การทำข้าวจี่ของชาวอีสานนั้น  ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเหนี่ยวที่นึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อน  แล้วนำไปย่างบนไฟอ่อนๆ  บางคนอาจใช้ไข่เหลืองทาเพื่อให้มีสีที่น่ารับประทานหรือใส่น้ำอ้อยที่ข้าวจี่  (“จี่”   ภาษาอีสาน  หมายถึง  ปิ้งหรือย่าง)

                4.  บุญเดือนสี่  :  บุญผะเหวด
                                (บุญพระเวสสันดรหรือบุญมหาชาติ)  คำว่าผะเหวด  เป็นสำเนียงของชาวอีสาน  ที่แผลงมาจาก  คำว่า  “พระเวส”  ซึ่งหมายถึง  พระเวสสันดร  การทำบุญผะเหวด  เป็นการทำบุญและฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ  ซึ่งมีจำนวน  13  กัณฑ์  ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเสสันดรผู้ซึ่งบำเพ็ญเพียรอันยิ่งใหญ่ด้วยวิธีบริจาคทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้าย  หรือมหาชาติของพระพุทธองค์ก่อนที่จะมาเสวยชาติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  งานบุญผะเหวดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสานนิยมทำกันทุกหมู่บ้าน  ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบทั้ง  13  กัณฑ์จบภายในวันเดียวนั้น  อานิสงฆ์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย์  ซึ่งเป็นดินแดนแห่งคความสุขตามพุทธคติ  ปัจจุบันงานบุญผะเหวดยังหาดูได้ทั่วไปเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสาน  แต่ได้ลดความใหญ่โตของงานลงบ้าง  ไม่ใช่เป็นงานที่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต  แต่ก็ยังมีบางจังหวัดที่ได้จัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่  เช่น  ที่จังหวัดร้อยเอ็ด  ถือเป็นงานประเพณีของจังหวัด  ภายในงานจะขบวนแห่พระเวสสันดรหลายขบวน  และมีการทำขนมจีน  (ชาวอีสานเรียกว่าข้าวปุ้น)  มากมายมาเลี้ยงแขกบ้านแขกเมือง

                5.  เดือนห้า  :  บุญสงกรานต์
                                เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ  นิยมทำในเดือนห้า  เริ่มตั้งแต่วันที่  13  เมษายน  ถึง  วันที่  15  เมษายน  คำว่า  ”สงกรานต์”  เป็นคำสันสกฤต  แปลว่า  ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป  ในที่นี้หมายถึงพระอาทิตย์ที่ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีหนึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่  การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป  พระสงฆ์  ผู้ใหญ่  ผู้เฒ่าผู้แก่  รวมทั้งจะมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระพุทธรูปและพระสงฆ์  ตามละแวกหมู่บ้านต่างๆ  นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร  ก่อพระเจดีย์ทราย  และมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานตลอดทั้ง  3  วัน  และบางหมู่บ้านจะมีการแห่พระพุทธรูปไปรอบๆ  หมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึง   ปัจจุบันงานบุญสงกรานต์ของชาวอีสานได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากในตัวเมืองใหญ่ๆ  มักมีการเล่นน้ำกันอย่างรุนแรง  มีการใช้แป้ง  น้ำแข็งหรือสีด้วยแต่ประชาชนอีสานในชนบทโดยเฉาพะคนเฒ่าคนแก่ยังคงรักษาขนบธรรเนียมแบบดั้งเดิมไว้  คือ  มีการสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งที่วัดและพระพุทธรูปที่บ้าน  จากนั้นจะไปสรงน้ำขอพรจากคนเฒ่าคนแก่ที่ตัวเองให้ความเคารพ  พ่อแม่  ญาติผู้ใหญ่  ฯลฯ  ในช่วงเวลานี้ชาวบ้านอีสานทั่วไปทำงานต่างถิ่นจะกลับบ้านเพื่อร่วมทำบุญและพบปะกับญาติพี่น้อง

                6.  เดือนหก  :  บุญบั้งไฟ
                                หากกล่าวถึงบุญบั้งไฟแล้วคนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงจังหวัดยโสธรหรืออุดรธานี  ซึ่งมีการจัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่  การทำบุญบั้งไฟเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งของชาวอีสานโดยจัดกันก่อนฤดูทำนา  ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์  ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข  ในงานจะมีการแห่บั้งไฟและจุดบั้งไฟ  เพราะเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถนให้ส่งฝนลงมา  ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้ง  ซึ่งจะสนุกสนานมากและการทำบุญบั้งไฟนี้นับเป็นการชุมนุมครั้งสำคัญของคนในท้องถิ่น  ที่มาร่วมจัดงานด้วยความรื่นเริงสนุกสนานเต็มที่  มีการพูดจาลามกหรือสัญลักษณ์เรื่องเพศมาล้อเลียนในขบวนบั้งไฟโดยไปถือว่าเป็นเรื่องหยาบคาย  และมีการประลองบั้งไฟกันว่า บั้งไฟใครจะขึ้นสูงกว่ากัน  ส่วนบั้งไฟใครจุดแล้วไม่ขึ้นจะมีการทำโทษด้วยการจับเจ้าของบั้งไฟ  โยนลงในบ่อโคลน  งานบุญบั้งไฟจะตรงกับประเพณีในเทศกาลเดือนหกอีกอย่างหนึ่ง  คือ  วันวิสาขบูชา  ชาวบ้านจะทำบุญและฟังเทศน์กันในตอนกลางวัน  กลางคืนจะมีการเวียนเทียน  ซึ่งทำเช่นเดียวกันกับประชาชนภาคอื่นๆ  ปัจจุบันงานบุญบั้งไฟยังหาดูได้ทั่วไปในจังหวัดภาคอีสาน  ซึ่งมีการจัดงานตั้งแต่เล็กๆ  จนถึงระดับจังหวัด  จังหวัดที่จัดงานใหญ่โตจนเป็นที่รู้จักทั่วไป  คือ  จังหวัยโสธรและจังหวัดอุดรธานี

                7.  เดือนเจ็ด  :  บุญเดือนซำฮะ
                                ซำฮะ  เป็นภาษาอีสาน   หมายถึง  การทำความสะอาด  เหมือนกับคำภาษาไทยกลางว่า  ชำระ  เป็นประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไร  อันจะทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่บ้านเมือง  ซึ่งถือว่าเป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน  การทำบุญซำฮะนี้ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย  เป็นการทำความสะอาดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบปี  สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้ขจัดออกไป  เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน  มูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาลมีโรคห่า  (อหิวาตกโรคระบาดมีคนล้มตายกันเป็นอย่างมาก  พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง)  มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้านและชาวบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย  การจัดงานบุญนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณในการที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข

                8.  เดือนแปด  :  บุญเข้าพรรษา
                                การเข้าพรรษาเป็นกิจของพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่จะต้องอยู่ประจำในวัดใดวัดหนึ่งไปตลอด  3  เดือน  กำหนดเอาตั้งแต่วันแรม  1  ค่ำเดือน  8  ถึงวันขึ้น  15  ค่ำเดือน  11  ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรไปพักแรมคืนที่อื่นเนื่องจากฤดูนี้เป็นฤดูแห่งเกษตรกรรม  การห้ามพระภิกษุสามเณรเดินทางด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการไม่ต้องการให้พระภิกษุสามเณรไปเหยียบย่ำพืชผลที่ชาวบ้านได้เพาะปลูกไว้  การทำบุญเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางพุทธศาสนา  โดยตรงจึงคล้ายกับภาคอื่นๆ  ในประเทศไทย  ในพิธีจะมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร  มีการฟังธรรมเทศนา  ชาวบ้านจะหล่อเทียนใหญ่ไว้ถวายเป็นพุทธบูชา  และจะเก็บไว้ตลอดพรรษา  การทำเทียนถวายวัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้  เป็นความเชื่อแต่โบราณว่า  หากใครทำเทียนไปถวายวัด  เมื่อเกิดชาติใหม่ผู้นั้นจะเสวยสุขในสวรรค์  อานิสงส์ของการถวายเทียนนั้น  หากมิได้ขึ้นสวรรค์แต่เกิดบนโลกมนุษย์ผู้นั้นจะมีความเฉลียวฉลาด  มีสติปัญญาไหวพริบเลิศเลอ  ประดุจแสงเทียนอันสว่างไสว  ปัจจุบันเกือบทุกจังหวัดในภาคอีสานได้จัดให้มีงานแห่เทียนเข้าภรรษา  โดยนำเทียนมาแกะสลักอย่างสวยงามประกอบกันเป็นเรื่องราวแล้วจัดแห่รอบหมู่บ้านหรือตัวเมืองก่อนนำไปถวายที่วัด  จังหวัดที่มีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่  คือ  จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งมีขบวนแห่เทียนพรรษาที่ได้แกะสลักเทียนอย่างวิจิตบรรจงไปรอบตัวเมือง  เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามของเทียนเข้าพรรษา  และยังได้ประกวดขบวนแห่เทียนพรรษาด้วย  งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี  ถือเป็นงานที่สำคํญงานหนึ่งของประเทศ  มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกภาคและจากต่างประเทศมาชมความงดงามของเทียนพรรษามากมาย

                9.  เดือนเก้า  :  บุญข้าวประดับดิน
                                บุญข้าวประดับดิน  เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว  ซึ่งจะจัดขึ้นวันแรม  14  ค่ำเดือน  9  ชาวบ้านจะพากันทำข้าวปลาอาหารคาวหวาน  และข้าวต้มมัดพร้อมหมากพลูที่ห่อใส่ใบตองแล้ว  นำไปวางที่โคนต้นไม้บริเวณวัดและรอบๆ  บ้าน  (ที่เรียกว่าข้าวประดับดินคงเป็นเพราะเอาห่อข้าวและเครื่องเคียงไปวางไว้บนดิน)  เพื่อให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วหรือผีบ้านผีเรือนมากิน  เพราะเชื่อว่าในช่วงเดือนเก้านี้  ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้รับการปลดปล่อยให้ออกมาท่องเที่ยวได้  ในพิธีบุญข้าวประดับดินชาวบ้านจะวางข้าวประดับดินไว้  พร้อมกับจุดเทียนบอกกล่าว  (บางคนก็จะร้องบอกเฉยๆ )  ให้มารับเอาอาหารและผลบุญนี้  (การออกไปวางข้าวประดับดินจะออกไปวางตอนเช้ามืด ประมาณตี  2  ตี  3 )  จากนั้นชาวบ้านจะนำเอาอาหารและสิ่งของไปทำบุญตักบาตรถวายทานแด่พระภิกษุ  สามเณร  ในพิธีจะมีการสมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศุลไปให้ผู้ที่ล่วงลับแล้ว

                10.  เดือนสิบ  :  บุญข้าวสาก
                                เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย  โดยจะมีการทำสลากให้พระจับ  เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น  เป็นการทำบุญที่ต่อเนื่องจากบุญข้าวประดับดินในเดือน  9  เพราะถือว่าเป็นการส่งเปรตหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่ออกมาท่องเที่ยวให้กลับสู่ดินแดนของตน  ในเดือน  10  นี้  ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารและสิ่งของไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า  โดยนำห่อข้าวสาก  (เหมือนกับห่อข้าวประดับดิน)  ไปวางบริเวณวัดพร้อมจุดเทียนและบอกให้ญาติมิตร  ผู้ที่ล่วงรับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้  มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวสากและกรวดน้ำไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ชาวบ้านจะนำเอาข้าวสารที่พระสวดเสร็จแล้ว  กลับไปที่บ้านด้วย  โดยเอาไปวางไว้ตามทุ่งนาและรอบๆ  บ้าน  เพื่อให้ผีบ้านผีเรือน  เจ้าที่เจ้าทางหรือผีที่ไร้ญาติขาดมิตรได้มารับส่วนบุญ

                11.   เดือนสิบเอ็ด  :  บุญออกพรรษา
                                บุญออกพรรษาจัดทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการทำบุญสืบเนื่องมาจากบุญเข้าพรรษาในเดือน  8  ที่พระภิกษุสามเณรได้เข้าพรรษา  เป็นเวลานานถึง 3 เดือน  ดังนั้นในวันที่ครบกำหนด  พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นจะมารวมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา  คือเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้  วันนี้จะเป็นวันที่พระภิกษุสามเณรจะได้มีโอกาสชุมนุมกันอย่างพร้อมเพียงที่วัด  ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นวันสำคัญ  และเป็นระยะที่ชาวบ้านหมดภาระในการทำไร่  ทำนา  อากาศในช่วงนี้จะเย็นสบาย  จึงถือโอกาสมาร่วมกันทำบุญ  มีการตักบาตร  ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์  รับศีลสวดมนต์ฟังเทศน์และถวายผ้าจำนำพรรษา  ตอนค่ำจะมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน  บางท้องถิ่นจะมีการถวายปราสาทผึ้ง  หรือต้นผาสาดเผิ้ง(สำเนียงอีสาน)  เพื่อเป็นพุทธบูชา  จังหวัดที่มีการถวายปราสาทผึ้งที่ยิ่งใหญ่  คือ  จังหวัดสกลนคร  จะมีขบวนแห่ปราสาทผึ้งซึงเป็นปราสาทจำลองที่แกะสลักอย่างวิจิตบรรจงมาจากขี้ผึ้ง  (คล้ายๆเทียน)  ไปรอบๆ  ตัวเมืองให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมความงดงาม  บางท้องถิ่นที่อยู่ใกล้แม่น้ำจะมีการแข่งเรือเพื่อความสนุกสนานและสามัคคีร่วมกันในตอนกลางวัน  ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการไหลเรือไฟ  (ฮ่องเฮือไหล)  เพื่อเป็นการบูชาคารวะพระแม่คงคา  จังหวัดที่มีชื่อในเรื่องงานไหลเรือไฟ  คือ  จังหวัดนครพนม  ซึ่งมีการประกวดเรือไฟสวยงาม  โดยการเอาไม้ไผมาต่อกันเป็นแพ  แล้วประดับตกแต่งให้เป็นเรื่องราวด้วยโคมไฟ  (เดิมนิยมใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดหลายพันอันประดับเรือ  ปัจจุบันอาจมีบ้างส่วนใช้แบตเตอรี่กับหลอดไฟแทน)  เพื่อนำเสนอต่อผู้ชมที่รอชมริมฝั่งแม่น้ำโขง

                12.  เดือนสิบสอง  :  บุญกฐิน

                                บุญกฐินเป็นการถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว  เริ่มตั้งแต่  วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  จนถึงวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  12  มูลเหตุที่มีการทำบุญกฐินนั้นมีเรื่องเล่าว่า  มีพระภิกษุจำนวนหนึ่ง  ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  โดยระหว่างการเดินทางนั้นเป็นช่วงฝนตกและระยะทางไกลจึงทำให้ผ้าจีวรของพระภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำเปรอะเปื้อนโคลน  ไม่สามารถหาผ้าผลัดเปลี่ยนได้  พระพุทธเจ้าได้เห็นถึงความยากลำบากนั้น  จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้ตามกำหนด  ชาวบ้านจึงได้จัดผ้าจีวรนำมาถวายพระภิกษุในช่วงเวลาดังกล่าวจนกลายเป็นประเพณีทำบุญกฐินมาจวบจนปัจจุบัน  ก่อนการทำบุญกฐินเจ้าภาพจะต้องจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า  มีการเตรียมผ้าไตรจีวรพร้อมเครื่องอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน  มีการบอกบุญแก่ญาติมิตร  ตอนเช้าพิธีจะแห่ขบวนกฐินเพื่อนำไปทอดที่วัดและแห่กฐินเวียนประทักษิณ  3  รอบ  จึงทำพิธีถวายผ้ากฐิน  นอกจากนี้อาจมีการทำบุญจุลกฐิน  (กฐินแล่นซึ่งเป็นการทำผ้าไตรจีวรจากปุยฝ้ายแล้วนำไปทอดให้เสร็จภายใน  24 ชั่วโมง  นับตั้งแต่เวลาเริ่มทำเพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก)  ปัจจุบันชาวอีสานที่ไปทำมาหากินต่างถิ่น  มักจะรวมตัวกันตั้งกองกฐินเพื่อนำกลับไปถวายที่วัดในหมู่บ้านตนเอง  ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำบุญแล้วยังได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวและญาติมิตรด้วย